ในปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของสินค้าจะทำหน้าที่หลักสำหรับห่อหุ้ม ป้องกัน รักษา แจ้งข้อมูล และดึงดูด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมากหากมีบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างออกไปจากที่กล่าวมา นั่นคือ บรรจุภัณฑ์อินดิเคเตอร์ (Indicator Packaging) ซึ่งมักจะใช้กันในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อบันทึกข้อมูลระหว่างการขนส่ง การเก็บรักษา และสื่อสารข้อมูลของคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร โดยจะแบ่งเป็น 4 ประเภทตามการเสื่อมเสียของอาหาร คือ 1. อินดิเคเตอร์ความสด (Freshness Indicator) 2. อินดิเคเตอร์ความสุก (Ripeness Indicator) 3. อินดิเคเตอร์รอยรั่ว (Leak Indicator) 4. อินดิเคเตอร์เวลา-อุณหภูมิ (Time-Temperature Indicator : TTI)
หลักการทำงานง่ายๆ เลยของบรรจุภัณฑ์อินดิเคเตอร์คือ เมื่อระยะเวลาผ่านไป อาหารจะมีการปล่อยแก๊สออกมา จนกระทั่งอาหารค่อยๆ สุก และเสื่อมเสียไปในที่สุด นักบรรจุภัณฑ์จึงคิดค้นและวิจัยอินดิเคเตอร์ที่ทำปฏิกิริยากับแก๊สที่เกิดขึ้น และทำอินดิเคเตอร์ติดลงบนสติ๊กเกอร์และติดลงบนบรรจุภัณฑ์ ให้สัมผัสกับแก๊สที่เกิดขึ้นภายในระบบบรรจุภัณฑ์
มาดูกันว่าบรรจุภัณฑ์อินดิเคเตอร์มีใช้กันแล้วในต่างประเทศ
ลูกแพร เป็นผลไม้ที่เปลือกจะไม่เปลี่ยนสีไปตามความสุกเลย ทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบว่าจะสามารถรับประทานได้หรือยัง หรือลูกแพรนั้นสุกแค่ไหนแล้ว แต่ลูกแพรจะปล่อยแก๊สเอทิลีนออกมา สติ๊กเกอร์ของอินดิเคเตอร์ที่ทำปฏิกิริยากับแก๊สเอทิลีนที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถบ่งบอกสถานะของลูกแพรว่า สติ๊กเกอร์สีแดงหมายถึงดิบหรือยังกรอบอยู่ สติ๊กเกอร์สีส้มหมายถึงห่ามหรือกินได้กำลังอร่อย และสติ๊กเกอร์สีเหลืองหมายถึงลูกแพรสุกมากๆ อีกทั้งข้อดีที่แอบแฝงของบรรจุภัณฑ์อินดิเคเตอร์นี้คือ ผู้บริโภคไม่ต้องจิ้มหรือจับว่าลูกแพรจะสุกหรือยัง ทำให้ไม่เกิดความเสียหายกับผลไม้
บรรจุภัณฑ์อินดิเคเตอร์ที่ใช้กับเนื้อสัตว์ก็มีหลักการไม่ต่างกัน โดยสติ๊กเกอร์อินดิเคเตอร์จะตรวจวัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อสัตว์ปล่อยออกมาประกอบกับอุณหภูมิที่ใช้เก็บรักษาเนื้อสัตว์
จากรูปสติ๊กเกอร์อินดิเคเตอร์รูปหัวใจบนเนื้อสัตว์จะเป็นสีเทา ซึ่งบ่งบอกว่าเนื้อสัตว์แพคนี้ไม่ควรรับประทานเพราะเก็บในอุณหภูมิต่ำมาแล้วเป็นระยะเวลาหลายวัน จึงเกิดการเสื่อมเสีย
หรือแม้กระทั่งแยมก็มีสติ๊กเกอร์อินดิเคเตอร์ติดไว้เหมือนกัน เพื่อบ่งบอกว่า สติ๊กเกอร์สีเขียวยังกินไม่อร่อย สติ๊กเกอร์สีน้ำเงินหมายถึงเหมาะสมสำหรับรับประทาน และหากสติ๊กเกอร์เปลี่ยนเป็นสีเหลือง นั่นหมายถึงแยมเกิดการเสื่อมเสีย
แม้ว่าในเมืองไทยการยอมรับหรือการใช้บรรจุภัณฑ์อินดิเคเตอร์ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างมากเหมือนกับต่างประเทศ แต่ก็ได้รับความสนใจในการศึกษาวิจัยของนักศึกษาและเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตอุตสาหกรรมอาหารต้องการนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง เพื่อบ่งบอกข้อมูลและติดตามสภาวะของอาหารว่าสุกหรือยัง รสชาติพอดีสำหรับที่จะรับประทานไหม หรือแม้กระทั่งสามารถบอกได้ว่าอาหารนั้นเสื่อมเสียแล้วหรือไม่ ซึ่งจะถือว่าบรรจุภัณฑ์อินดิเคเตอร์สามารถสร้างความสะดวกให้กับผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภค
This article was written by admin